Homeประวัติสมาคมฯ

ประวัติสมาคมนิสิตเก่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๒๔๘๑ - ๒๔๘๒

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพิเศษขึ้นชุดหนึ่งเพื่อกำหนดหลักสูตรวิชาการบัญชีและพาณิชย์ โดยมีพระยาไชยยศสมบัติ เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการอีก ๕ ท่าน ทำให้ “แผนกวิชาการบัญชีและการพาณิชย์” ได้เริ่มเปิดการสอนเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยขึ้นอยู่กับคณะอักษรศาสตร์

๒๔๘๓ - ๒๔๘๖

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ มหาวิทยาลัยได้ประกาศแยก “แผนกวิชาการบัญชีและการพาณิชย์” ออกจากคณะอักษรศาสตร์ เป็นแผนกวิชาอิสระ ขึ้นตรงต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้เลื่อนฐานะ “แผนกวิชาการบัญชีและการพาณิชย์” ขึ้นเป็น  “คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี” นับเป็นคณะลำดับที่ ๕ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้แต่งตั้ง ศาสตราจารย์อุปการคุณ พระยาไชยยศสมบัติ ให้ดำรงตำแหน่งคณบดี (กิตติมศักดิ์)

๒๕๐๓

เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้มีการประชุมนิสิตเก่าในงานต้อนรับน้องใหม่ ซึ่งมีนิสิตเก่าประมาณ ๘๐ คน ได้มาร่วมประชุมตามคำเชิญของศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระ (บุตรท่านพระยาไชยยศสมบัติ) เพื่อหารือเรื่องการจัดตั้งสมาคมนิสิตเก่าฯ ขึ้นให้เป็นศูนย์กลางในการติดต่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันของชาวพาณิชย์-บัญชี

๒๕๐๕

วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ จึงได้มีการจดทะเบียนก่อตั้ง “สมาคมนิสิตเก่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (อักษรย่อ พ.บ.จ.) โดยมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Faculty of Commerce and Accountancy of Chulalongkorn University Alumni Association (C.A.C.) และมีการประชุมคณะดำเนินงานของสมาคมฯ ครั้งแรกภายหลังจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมฯ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่สโมสรอาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับของสมาคมฯ ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณา

การประชุมใหญ่ของสมาคมฯ ได้ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ณ อาคารไชยยศสมบัติ ๑ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน ๗๙ คน โดยมีท่านศาสตราจารย์อุปการคุณ พระยาไชยยศสมบัติ ได้ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุม และที่ประชุมได้มีมติเลือกตั้งนายเฉลิม ประจวบเหมาะ (รุ่น ๑) เป็นนายกสมาคมฯ และเลือกกรรมการอีก ๒๐ คน นับเป็นคณะกรรมการชุดแรกของสมาคมฯ

๒๕๐๖

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ สมาคมฯ ได้ทำการออกวารสารเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างนิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน และคณะฯ ฉบับแรกเมื่อเดือนมีนาคม ใช้ชื่อว่า “วารสารพาณิชยศาสตร์และการบัญชี” โดยศาสตราจารย์พระยาไชยยศสมบัติ ได้มีปรารภเกี่ยวกับการก่อกำเนิดของสมาคมฯ พิมพ์ลงในวารสารพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ฉบับปฐมฤกษ์ ปีที่ ๑ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ไว้ดังนี้

“บัดนี้สมาคมนิสิตเก่าของเราได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจะเป็นจุดรวมของผู้ที่สำเร็จไปจากคณะฯ จะได้ช่วยกันส่งเสริมวิชา โดยมีการออกวารสาร มีการอภิปราย มีการพบปะสังสรรค์ ถกปัญหาต่างๆ และเป็นที่พึ่งพาแก่นิสิตรุ่นหลังต่อไป ความฝันอันสุดท้ายก็คือ ข้าพเจ้าเห็นความรุ่งโรจน์ของสมาคมฯ ว่าจะเป็นดวงประทีปอันโชติช่วง นำชาวเราทั้งหลายไปสู่ความเชี่ยวชาญในวิชาการ เพื่อการพัฒนาประเทศชาติ ให้เจริญมั่งคั่งสมบูรณ์ต่อไป”

วารสารพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้ถูกพิมพ์แจกจ่ายนิสิตเก่าเรื่อยมาจนถึงฉบับสุดท้ายที่ออกในเดือนมิถุนายน ๒๕๒๑ หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงรูปเล่มและเนื้อหา และใช้ชื่อใหม่ว่า “วารสารสำเภาแล่นใบ” ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้มีการปรับปรุงจนมาเป็นวารสารในปัจจุบันที่ชื่อว่า “วารสารเภตรา” รวมทั้งได้มีการออก “จดหมายข่าวสำเภาสีฟ้า”

นอกจากนั้นแล้ว สมาคมฯ ยังได้จัดงานคืนสู่เหย้าขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้นิสิตเก่าได้กลับมาพบปะสังสรรค์กัน ซึ่งก็เริ่มมาจากการที่นิสิตเก่าได้มีการจัดงานวันคล้ายวันเกิดพระยาไชยยศสมบัติเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ และได้ยึดถือเป็นธรรมเนียมที่จัดมาในทุกๆ ปี หลังจากท่านได้ถึงอนิจกรรมแล้ว นิสิตเก่าก็ได้คงจัดงานชุมนุมกันเป็นงานคืนสู่เหย้าในวันที่ ๒๙ มกราคม ของทุกปี

๒๕๑๖

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ สมาคมฯ ได้เปิดที่ทำการเป็นทางการแห่งแรก ณ ห้อง ๓๑๓ อาคารไชยยศสมบัติ ๑ ในสมัยที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระ เป็นคณบดี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ สมาคมฯ ได้ย้ายที่ทำการมายังชั้นล่างของอาคารอนุสรณ์ ๕๐ ปี มีพื้นที่ ๑๒๐ ตารางเมตร ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะฯ ได้ให้พื้นที่เพิ่มอีก ๖๐ ตารางเมตร ทำให้มีพื้นที่รวม ๑๘๐ ตารางเมตร และได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

๒๕๒๙

สมาคมฯ ได้มีการประกาศเกียรติคุณนิสิตเก่าดีเด่น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ จำนวน ๘๗ ท่าน และก็ได้หยุดไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้เริ่มจัดให้มีการประกาศเชิดชูเกียรตินิสิตเก่าบัญชี จุฬาฯ ขึ้นใหม่ในชื่อ “บัญชี จุฬาฯ ดีเด่น” และก็ได้มีการจัดต่อมาเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน

๒๕๕๑

และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปีแห่งการก่อตั้งคณะฯ ทางสมาคมฯ ได้มีการประกาศเชิดชูเกียรติ “นิสิตเก่าเกียรติยศ” นิสิตเก่าผู้ทรงเกียรติที่ได้สร้างชื่อเสียงคุณประโยชน์สูงสุดและสร้างเกียรติประวัติคุณูปการให้แก่คณะฯ มหาวิทยาลัย สังคม และประเทศชาติ ในวันงาน ๗๐ ปีแห่งเกียรติภูมิจุฬาฯ ที่จัดขึ้นวันอังคารที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้แก่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระ (รุ่นที่ ๗) และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.คุณหญิง สุชาดา กีระนันทน์ (รุ่นที่ ๒๔)

นอกจากนั้นแล้ว สมาคมฯ ยังได้มีการจัดกิจกรรมอีกหลายอย่างทั้งกิจกรรมทางวิชาการ กิจกรรมเพื่อการพบปะสังสรรค์ในมวลหมู่นิสิตเก่า กิจกรรมเพื่อสังคม การสนับสนุนคณะฯ และนิสิตปัจจุบัน รวมทั้งการประสานงานกับสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นไปตามประสงค์ของศาสตราจารย์พระยาไชยยศสมบัติ คณบดีท่านแรกและผู้ก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระยาไชยยศสมบัติ ผู้ให้กำเนิดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระยาไชยยศสมบัติ ชื่อเดิมว่า เสริม กฤษณามระ เป็นบุตรของ อำมาตย์เอกพระยาราชธนพิทักษ์ (สังข์ กฤษณาสระ) และคุณหญิงราชธนพิทักษ์ (แสง ศรัทธาคุ้ม)

ท่านได้เริ่มการศึกษาตามแบบเรียนเร็วที่โรงเรียนวัดศรีดอนชัย ตำบลช้างคลาน จังหวัดเซียงใหม่ เนื่องจากท่านเจ้าคุณพ่อ ซึ่งเป็นข้าราชการ ได้ไปเป็นข้าหลวงคลังภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อประสมอักษรกับสระเอียะ สระเอียได้ ก็ได้ลาออกเพื่อย้ายตามท่านเจ้าคุณพ่อ ไปเรียนต่อที่โรงเรียนวรสิทธิประดิษฐ์ ซึ่งตั้งอยู่ในวัดมงคลนิมิต จังหวัดภูเก็ต เรียนจนสอบไล่ได้ชั้น ๓ ตามหลักสูตรกระทรวงธรรมการ ก็ย้ายตามท่านเจ้าคุณพ่ออีกครั้ง โดยมาเรียนเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนราชวิทยาลัย ตำบลโรงเลี้ยงเด็ก ถนนบำรุงเมือง กรุงเทพ ในสังกัดกระทรวงธรรมการ (ต่อมาโรงเรียนได้ย้ายไปอยู่ที่ตำบลบางขวาง จังหวัดนนทบุรี เมื่อย้ายไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม) จนสอบไล่ได้ชั้นสูงสุดของโรงเรียน (upper six ซึ่งเป็นระดับที่สามารถเทียบชั้นเพื่อเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศอังกฤษได้) จึงได้เข้ารับราชการที่กระทรวงการพระคลัง (มหาสมบัติ) ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ในตำแหน่งเสมียนกรมที่ปรึกษาการคลัง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ท่านสอบชิงทุนของกระทรวงการพระคลัง (มหาสมบัติ) ได้ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ จนจบหลักสูตร (ACA) จากสถาบัน The Institute of Chartered Accountant in England & Wales ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ นับเป็นคนไทยคนแรกที่จบหลักสูตรดังกล่าว และท่านได้สมัครเป็นสมาชิกสามัญของสถาบันก่อนเดินทางกลับประเทศไทย ถึงกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕

ท่านได้กลับเข้ารับราชการที่กระทรวงการพระคลัง (มหาสมบัติ) และได้รับการบรรจุในตำแหน่งเสมียนอังกฤษ (ต่ำอัตรา) ในเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ พร้อมทั้งได้บรรดาศักดิ์เป็น “หลวงกฤษณามระพัฒน์” ในฐานะที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ โดยไม่ต้องผ่านตำแหน่งท่านขุน

ต่อมาท่านได้ลาออกจากระทรวงการพระคลัง (มหาสมบัติ) เข้าทำงานในกรมบัญชีกลาง ตำแหน่งนายเวรชั้น ๒ สักระยะหนึ่ง ก็ได้ถูกโอนไปอยู่กรมตรวจเงินแผ่นดิน ตำแหน่งนายเวรชั้น ๑ (ต่ำอัตรา) ซึ่งต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนซื่อตำแหน่งเป็น ปลัดกรมชั้น ๑ ท่านได้รับราชการอยู่ในกรมตรวจเงินแผ่นดิน จนได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยอธิบดีกรมตรวจเงินแผ่นดิน ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒

ท่านได้รับการโอนกลับมาที่กรมบัญชีกลางอีกครั้ง พร้อมตำแหน่งรักษาการอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๒ และได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ด้วยวัยเพียง ๓๒ ปี และได้รับพระมหากรุณาบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาไชยยศสมบัติ”

ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาศรีวิศาลวาจา เพื่อนรักของท่านได้มาขอให้ท่านเข้าร่วมกับรัฐบาล แต่ท่านก็ได้ปฏิเสธไปโดยให้เหตุผลว่ายังรักงานที่ทำอยู่ มีหลายอย่างที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และขณะนั้นท่านก็ยังไม่ทราบว่าใครเป็นใคร แต่ท่านก็ยังได้รับมอบหมายหน้าที่ในตำแหน่งงานสำคัญต่างๆ เช่น เป็นสมาชิกชั่วคราวสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึงวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ และเป็นผู้อำนวยการบัญชีใหญ่ กรมรถไฟหลวง ระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ขอร้องให้ท่านลาออกจากราชการ มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านจึงได้เข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๘ ด้วยวัยเพียง ๓๘ ปี และได้พ้นจากตำแหน่งเมื่อรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ และท่านไม่ประสงค์ที่จะเป็นต่อในรัฐบาลของหลวงพิบูลสงคราม

หลังจากนั้น ท่านจึงได้เปิดสำนักงานสอบบัญชีชาร์เตอร์แอคเคาน์แตนท์ ซึ่งก็คือ สำนักงานสอบบัญชี “สำนักงานไชยยศ” และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้รับเชิญจากทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เข้ามาริเริ่มก่อตั้งและวางหลักสูตรการสอนในแผนกวิชาการบัญชีและการพาณิชย์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และได้รับตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรก เมื่อแผนกวิชาการบัญชีและการพาณิชย์ ได้ถูกยกฐานะเป็น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖

ต่อมา ท่านได้มีตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิก ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านจึงได้ลาออกจากตำแหน่งคณบดีของคณะฯ โดยทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แต่งตั้งให้อธิการบดี พลอากาศโท มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฎ์ รักษาการปฏิบัติหน้าที่คณบดีของคณะฯ และเมื่อท่านได้พ้นจากตำแหน่งวุฒิสมาชิกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านก็ได้กลับมาดำรงตำแหน่งคณบดีอีกครั้ง และทางสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีมติแต่งตั้งท่านเป็น “ศาสตราจารย์อุปการคุณ” ในเวลาต่อมา

ในสมัยเริ่มแรก อาจารย์ในคณะฯ มีน้อย โดยเฉพาะช่วง ๓-๔ ปีแรก เกือบไม่มีอาจารย์ประจำ ในวิชาการบัญชีนั้น ท่านต้องสอนเองเกือบทุกวิชา และยังต้องออกแบบฝึกหัดและตรวจด้วยตัวเอง และด้วยที่ท่านเคยผ่านงานและรู้จักผู้มีความรู้มากมาย ท่านจึงสามารถเชิญผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในแต่ละด้านมาเป็นผู้สอนตั้งแต่เริ่มต้น จนกล่าวได้ว่าบรรดาปรมาจารย์ของประเทศในด้านต่างๆ ได้รับเชิญมาเป็นอาจารย์ผู้สอนในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแทบทั้งสิ้น

ท่านมีความเมตตากับลูกศิษย์มาก จึงเป็นเสมือน “พ่อ” ของนิสิตบัญชี ถ้าคณะฯ ขาดแคลนอะไร งบประมาณไม่มี หรือเป็นของที่หาใช้ได้ยากในช่วงเวลาของสงครามโลก ท่านก็จะนำสมบัติของท่านมาให้คณะฯ และนิสิตใช้ เช่น เครื่องพิมพ์ดีดที่แพงและหายาก ท่านก็ได้นำมาจากสำนักงานของท่านกว่า ๔๐ เครื่อง กระดาษและเครื่องใช้ต่างๆ มาให้ใช้เพื่อการเรียนรู้และฝึกฝน

แม้กระทั่งเมื่อนิสิตได้จบการศึกษาไปแล้ว ท่านก็ยังคงให้ความรักและความเป็นกันเอง ได้มีการร่วมรับประทานอาหารกับเหล่านิสิตเก่า และวันที่ ๒๙ มกราคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน ท่านก็ได้จัดเลี้ยงนิสิตเก่าทุกคนที่ไปกราบท่านที่บ้าน

ท่านได้ขอลาออกจากตำแหน่งคณบดี (กิตติมศักดิ์) เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื่องจากปัญหาสุขภาพ ซึ่งนับว่าท่านได้บริหารคณะฯ และวางรากฐานอันมั่นคงให้แก่คณะฯ มายาวนานถึง ๒๕ ปี (พ.ศ. ๒๔๘๑ – ๒๕๐๗) นับว่าท่านเป็นผู้มีคุณูปการกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีอย่างสูงสุด